ศูนย์เทคโนโลยีดิจิทัลจัดอบรมเชิงปฏิบัติการหัวข้อ “การใช้งานระบบ HRMS อย่างเชี่ยวชาญ”

เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2567 เวลา 13.00-16.00 น. ศูนย์เทคโนโลยีดิจิทัลได้จัดอบรมเชิงปฏิบัติการหัวข้อ “การใช้งานระบบ HRMS อย่างเชี่ยวชาญ” ณ ห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ 2 อาคารคอมพิวเตอร์

หลักสูตรนี้มีวัตถุประสงคเพื่อให้พนักงานใช้งานระบบ HRMS ได้อย่างมีประสิทธิ์ภาพ เป็นแพลตฟอร์มที่ให้บริการการจัดการข้อมูลพนักงานและกระบวนการทางบุคคล อำนวยความสะดวกในการบริหารงานทรัพยากรมนุษย์ต่าง ๆ ในองค์กร การบันทึกเวลาทำงาน รวมถึงการจัดการข้อมูลส่วนตัวของพนักงาน และตั้งค่าพื้นฐานระบบ HRMS

ในการจัดอบรมครั้งนี้มีบุคลากรเข้าร่วม จำนวน 7 คน  โดยมีทีมวิทยากรที่ชำนาญด้านการใช้งานระบบ HRMS  ได้แก่ นางสาวญาปกา สัมพันธมาศ นายณัฐดนัย สุวรรณโชติ และนางสาวสุภาพร ทองจันทร์ เจ้าหน้าที่วิเคราะห์ระบบงานคอมพิวเตอร์ ฝ่ายแอปพลิเคชันโซลูชัน ศูนย์เทคโนโลยีดิจิทัล โดยวิทยากรแนะนำการตรวจสอบและแก้ไขข้อมูลส่วนตัว เกี่ยวกับการตรวจสอบข้อมูลการมาปฏิบัติงาน การแก้ไขเวลาปฏิบัติงาน เทคนิคการบันทึกการลาให้ถูกต้องตามระเบียบมหาวิทยาลัย การบันทึกการทำงานนอกเวลา รวมถึงการลงเวลาเข้า-ออกผ่านสมาร์ทโฟน

ศูนย์เทคโนโลยีดิจิทัลจัดอบรมหลักสูตรการสร้าง Data Visualization เบื้องต้นด้วย Google Looker Studio Step By Step

ศูนย์เทคโนโลยีดิจิทัลโดย ICT Academy ได้จัดอบรมหลักสูตร “การสร้าง Data Visualization เบื้องต้นด้วย Google Looker Studio Step By Step” รุ่นที่ 2 ซึ่งเป็นการอบรมเชิงปฏิบัติการที่มุ่งเน้นการสร้างภาพแสดงผลข้อมูลเชิงปริมาณที่วัดได้ อาทิ ตัวเลข แผนภูมิ กราฟ และอื่นๆ สำหรับการจัดทำรายงาน การวิเคราะห์ การสรุปผล และการนำเสนอที่น่าสนใจและเข้าใจง่าย การอบรมนี้ได้จัดขึ้นในวันที่ 13-14 มีนาคม 2567 เวลา 13.00 – 16.00 น. ณ ห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ 2 อาคารคอมพิวเตอร์

การอบรมครั้งนี้ได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญหลายท่านจากศูนย์เทคโนโลยีดิจิทัล ที่ได้มาแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ในการทำ Data Visualization และการใช้ Google Looker Studio อย่างมืออาชีพ นอกจากนี้ยังมีการฝึกปฏิบัติจริงเพื่อให้ผู้เข้าอบรมได้เรียนรู้และทดลองสร้างภาพแสดงผลข้อมูลด้วยตนเอง การอบรมครั้งนี้มีบุคลากรเข้าร่วมจำนวน 38 คน ซึ่งได้รับความสนใจและการตอบรับที่ดีเยี่ยมจากผู้เข้าอบรม

ศูนย์เทคโนโลยีดิจิทัลโดย ICT Academy ได้จัดการอบรมเชิงปฏิบัติการหลักสูตร “การใช้งานโปรแกรม Foxit PDF Editor for Education” รุ่นที่ 4 สำหรับบุคลากรมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ การอบรมได้จัดขึ้นในวันที่ 6 มีนาคม 2567 เวลา 13.30 – 15.30 น. ณ ห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ 2 อาคารคอมพิวเตอร์

การอบรมครั้งนี้ได้รับเกียรติจากนางสาวอุนา ไชยบุญ เจ้าหน้าที่บริหารงานทั่วไป ฝ่ายแอปพลิเคชันโซลูชัน ศูนย์เทคโนโลยีดิจิทัล เป็นวิทยากร โดยมีบุคลากรจาก 5 หน่วยงานสมัครเข้าร่วมอบรมจำนวน 14 คน ในการอบรมครั้งนี้ วิทยากรได้แนะนำเทคนิคการใช้งานโปรแกรม Foxit PDF Editor อย่างมืออาชีพ ตั้งแต่การนำเข้าไฟล์เอกสาร การเพิ่มข้อความ การเพิ่มลายมือชื่อ การแทรกหมายเลขหน้า การแก้ไขเอกสาร การลบและเพิ่มข้อความใหม่ ไปจนถึงวิธีการรวมไฟล์เอกสาร PDF เข้าด้วยกัน

การอบรมนี้เป็นการส่งเสริมให้บุคลากรมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์มีความสามารถในการจัดการเอกสารดิจิทัลอย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับการใช้งานเทคโนโลยีในยุคดิจิทัลที่ก้าวหน้า

เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2567 ศูนย์เทคโนโลยีดิจิทัลได้จัดสอบเสมือนจริง เพื่อทดสอบการใช้ระบบตรวจข้อสอบอัตนัยอัตโนมัติ (โดยใช้ Keyword) ในรายวิชา GEN64-112 เทคนิคการสื่อสารในสังคมร่วมสมัย มีนักศึกษาเข้าสอบ 536 คน ณ ห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ อาคารคอมพิวเตอร์ และอาคารเรียนรวม 6 

โดยมีนักศึกษาบางส่วนที่ประสงค์ใช้คอมพิวเตอร์ของมหาวิทยาลัย และประสงค์ใช้สมาร์ทโฟน

ทางศูนย์เทคโนโลยีดิจิทัล ขอขอบคุณ  ทีมอาจารย์เข้าร่วม สำนักวิชาพหุภาษาและการศึกษาทั่วไป และศูนย์บริการการศึกษาที่อำนวยความสะดวกในเรื่องกระบวนการจัดสอบและจัดหากรรมการคุมสอบ ทำให้การจัดสอบดำเนินไปด้วยความเรียบร้อย

เนื่องจากศูนย์เทคโนโลยีดิจิทัลอัพเกรดอุปกรณ์สลับสัญญาณหลักหรือ Core Switch ในวันเสาร์ที่ 2 มีนาคม 2567 เวลา 17.30-18.00 น. เพื่อให้ความมั่นคงปลอดภัยของระบบเครือข่ายภายในมหาวิทยาลัยเป็นไปตามมาตรฐาน จึงส่งผลไม่สามารถใช้งานระบบอินเทอร์เน็ตในช่วงเวลาดังกล่าว ศูนย์เทคโนโลยีดิจิทัลขออภัยในความไม่สะดวกมา ณ ที่นี้ 

สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ นายจักรินทร์ ล้วนศิริ 091-7758066

ศูนย์เทคโนโลยีดิจิทัลจัดอบรมหลักสูตรการสร้างเว็บไซต์อย่างมืออาชีพ

ศูนย์เทคโนโลยีดิจิทัลโดย ICT Academy ได้จัดอบรมเชิงปฏิบัติการภายใต้หัวข้อ “การสร้างเว็บไซต์อย่างมืออาชีพ สำหรับนักศึกษา” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างทักษะและความรู้ในการสร้างเว็บไซต์ให้กับนักศึกษาในรายวิชา THM65-203 Digital Technology for Tourism and Hospitality สาขาวิชาการจัดการการท่องเที่ยวและการบริการยุคดิจิทัล ภาคการศึกษาที่ 3/2566 การอบรมครั้งนี้ได้จัดขึ้นในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 10.00 – 12.00 น. ณ ห้อง E-Testing3 อาคารคอมพิวเตอร์

การอบรมครั้งนี้ได้รับเกียรติจากนายวชิรศักดิ์ โภคากรณ์ เจ้าหน้าที่วิเคราะห์ระบบงานคอมพิวเตอร์ ฝ่ายแอปพลิเคชันโซลูชัน ศูนย์เทคโนโลยีดิจิทัล ที่ได้มาแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ในการสร้างเว็บไซต์และการประยุกต์ใช้ในการจัดทำเว็บไซต์อย่างมืออาชีพ นอกจากนี้ยังมีการฝึกปฏิบัติจริงเพื่อให้นักศึกษาได้เรียนรู้และทดลองสร้างเว็บไซต์ด้วยตนเอง การอบรมครั้งนี้มีนักศึกษาเข้าร่วมจำนวน 43 คน ซึ่งได้รับความสนใจและการตอบรับที่ดีเยี่ยม

แจ้งปิดการใช้งาน VPN จากภายนอก เพื่อปรับปรุงระบบรักษาความปลอดภัยอินเทอร์เน็ต

เนื่องจากศูนย์เทคโนโลยีดิจิทัล ตรวจพบการแจ้งเตือนช่องโหว่ในการใช้งานระบบ VPN ดังนั้น เพื่อป้องกันภัยคุกคามที่อาจจะเกิดความเสียหายร้ายแรงต่อระบบอินเทอร์เน็ตของมหาวิทยาลัย จึงจำเป็นต้องดำเนินการดังต่อไปนี้

1. ปิดการใช้งานระบบ VPN จากภายนอก ตั้งแต่วันอังคารที่ 13 กุมภาพันธ์ เวลา 8.30 น. – วันพฤหัสบดีที่ 15 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 09.00 น. (ระบบอื่นสามารถใช้งานได้ปกติ)
2. ปิดการใช้งานอินเทอร์เน็ตของมหาวิทยาลัยทุกระบบ เพื่อปรับปรุงระบบรักษาความปลอดภัย ในวันพุธที่ 14 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 20.00 น – 21.00 น.

หากดำเนินการเรียบร้อยจะเปิดให้บริการตามปกติ ทั้งนี้สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ นายวิศิษฏ์ เรืองพรหม โทรศัพท์ 73444 หรือโทรศัพท์เคลื่อนที่ 08 1958 7721

เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2567 ที่ผ่านมา Cybermetrics Lab ซึ่งเป็นกลุ่มวิจัยของสภาวิจัยแห่งชาติ ประเทศสเปน ประกาศผลการจัดอันดับมหาวิทยาลัย Webometrics Ranking of World Universities 2024 ผ่านทางเว็บไซต์ www.webometrics.info ผลปรากฏว่า มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ได้รับการจัดอันดับให้อยู่ในอันดับที่ 14 ของประเทศไทย จาก 192 มหาวิทยาลัยทั่วประเทศ และอันดับที่ 1,622 ของโลก

โดยมี นายวชิรศักดิ์ โภคากรณ์ เจ้าหน้าที่วิเคราะห์ระบบงานคอมพิวเตอร์ บุคลากรศูนย์เทคโนโลยีดิจิทัล  ร่วมเป็นคณะกรรมการทำงานการขับเคลื่อนเว็บไซต์มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และศึกษาวิธีการจัดอันดับ Webometrics Ranking of World Universities เพื่อนำมาปรับปรุงเว็บไซต์และหน่วยงานมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์เพื่อให้เป็นไปตามเกณฑ์การประเมิน

การจัดอันดับ “Webometrics Ranking of World Universities” เป็นการวัดความสามารถในการเป็น “มหาวิทยาลัยอิเล็กทรอนิกส์ (E-university)” สถิติของ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ในระดับประเทศและระดับโลกย้อนหลัง 6 ปี พบว่า อันดับมีการขยับดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2018, 2019, 2020, 2021, 2022 และ2023  ม.วลัยลักษณ์ อยู่ในอันดับที่ 31, 24 , 23 , 19 ,15 และ 15 ของประเทศ

เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 13.00 -15.00 น. ศูนย์เทคโนโลยีดิจิทัลได้จัดอบรมเชิงปฏิบัติการหัวข้อ “เรียนรู้และแนวทางป้องกันไวรัส (Virus Protection)” ณ ห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ 1 อาคารคอมพิวเตอร์

ในหัวข้อ “เรียนรู้และแนวทางป้องกันไวรัส (Virus Protection) มีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างทักษะวิธีการใช้งานโปรแกรมป้องกันไวรัสและจำกัดไวรัสคอมพิวเตอร์และมัลแวร์ การติดตั้งและการใช้งานโปรแกรมป้องกันไวรัสและการอับเดต 

โดยมีทีมวิทยากรที่ชำนาญด้านการใช้งานโปรแกรมป้องกันไวรัส ได้แก่ นายวิศิษฏ์ เรืองพรหม และนายวิเชียร จุติมูสิก ฝ่ายบริการระบบเครือข่ายและสื่อสาร ศูนย์เทคโนโลยีดิจิทัล  แนะนำไวรัสและมัลแวร์ การแพร่กระจายและต้นทางที่พบบ่อย การป้องกันและจำกัดไวรัสคอมพิวเตอร์และมัลแวร์  การใช้ซอฟต์แวร์ป้องกันไวรัส การติดตั้งและการใช้งานโปรแกรมป้องกันไวรัสและการอับเดต วิธีการใช้งานโปรแกรมป้องกันไวรัส การทดสอบการทำงานโปรแกรมไวรัส การจัดการข้อมูลและการสำรองข้อมูลการจัดการข้อมูลใน กรณีทีเป็นเชื้อไวรัส และการสำรองข้อมูลเพื่อป้องกันข้อมูลจากการสูญหาย ในการอบรมครั้งนี้ มีบุคลากรจากศูนย์เครื่องมือวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและศูนย์บรรณสารและสื่อการศึกษา เข้าร่วม จำนวน 3 คน

ศูนย์เทคโนโลยีดิจิทัล มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ พัฒนาระบบตรวจข้อสอบอัตนัยอัตโนมัติ (โดยใช้ Keyword) ร่วมกับ สำนักวิชาพหุภาษาและการศึกษาทั่วไป ในรายวิชานำร่อง GEN64-112 เทคนิคการสื่อสารในสังคมร่วมสมัย 

เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2567 เวลา 17.00-18.30 น. ณ ห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ อาคารคอมพิวเตอร์ ศูนย์เทคโนโลยีดิจิทัล ได้ทำการทดสอบระบบตรวจข้อสอบอัตนัยอัตโนมัติผ่านระบบคอมพิวเตอร์ โดยมีนักศึกษาอาสาสมัครเข้าร่วมทดสอบ จำนวน 200 คน ในการนี้ ได้รับเกียรติจาก ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณิชนันทน์ กิตติพัฒนบวร ผู้ช่วยอธิการบดี เป็นประธานในการจัดการทดสอบ ร่วมด้วย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ฐิมาพร เพชรแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีดิจิทัล  และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ปิยชาติ สึงตี รองคณบดีสำนักวิชาพหุภาษาและการศึกษาทั่วไป นอกจากนี้ มีทีมอาจารย์เข้าร่วมโครงการได้แก่ อาจารย์เมธัส ศิริวัฒน์ อาจารย์ศิริพร แทนสุวรรณ อาจารย์กฤษฎา กันติชล และ อาจารย์ปวิรศา ประดิษฐ์ศร และทีมพัฒนาระบบได้แก่ นางนวพร ไชยเสน และนางสาวจุฬาพร พันธ์กำเหนิด เจ้าหน้าที่วิเคราะห์ระบบงานคอมพิวเตอร์ ศูนย์เทคโนโลยีดิจิทัล

การทดสอบดำเนินไปด้วยความเรียบร้อย และแผนการทดสอบต่อไป จะทดสอบระบบโดยนักศึกษาทั้งรายวิชา ประมาณ 1,200 คน ในวันที่ 3 มีนาคม 2567