ศทท. จัดประชุมระดมความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย กลุ่มพนักงานสายวิชาการ เพื่อร่วมกันกำหนดแนวทางและจัดทำแผนปฏิบัติการดิจิทัล มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ พ.ศ. 2568-2571
เมื่อวันอังคารที่ 18 มิถุนายน 2567 ศูนย์เทคโนโลยีดิจิทัล ได้จัดประชุมระดมความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเพื่อร่วมกันกำหนดแนวทางและจัดทำแผนปฏิบัติการดิจิทัล มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ พ.ศ. 2568-2571 ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เป็นประธานเปิดการประชุมระดมความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย กลุ่มพนักงานสายวิชาการ เพื่อกำหนดแนวทางจัดทำแผนปฏิบัติการดิจิทัล มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ พ.ศ. 2568-2571 ณ ห้องประชุมภัทรธรรมาภรณ์ ชั้น 9 อาคาร B ศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ฐิมาพร เพชรแก้ว รักษาการแทนผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีดิจิทัล กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมประชุม ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณิชนันทน์ กิตติพัฒนบวร ผู้ช่วยอธิการบดี กล่าวรายงาน
ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ กล่าวว่า การจัดทำแผนปฏิบัติการด้านดิจิทัลมีความสำคัญอย่างยิ่งในการนำพา มหาวิทยาลัยไปสู่การเป็นมหาวิทยาลัยดิจิทัล ที่มีความพร้อมและสามารถตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงในยุคดิจิทัลได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทิศทางของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ในด้านมหาวิทยาลัยดิจิทัลนั้น คือการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและเทคโนโลยีสารสนเทศ ให้สามารถรองรับการดำเนินงานทุกด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเรียนการสอนในยุคดิจิทัลได้อย่างเต็มที่ มีการขับเคลื่อนนวัตกรรมและการตัดสินใจในการบริหารงานของมหาวิทยาลัยโดยใช้ข้อมูล นอกจากนี้ เรายังมุ่งเน้นการพัฒนาทักษะดิจิทัล (Digital Skills) ของนักศึกษาและบุคลากร เพื่อให้สามารถใช้งานเทคโนโลยีได้อย่างชำนาญ และมีความสามารถในการปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ในด้านของปัญญาประดิษฐ์ (AI) เรามีความตั้งใจที่จะนำ AI เข้ามาช่วยในการเรียนการสอน การตรวจข้อสอบ และช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานด้านต่างๆ ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ กล่าวต่ออีกว่า นอกจากนี้ AI ยังสามารถนำมาใช้ช่วยในการวิเคราะห์ ทำนายแนวโน้มต่าง ๆ ช่วยให้การตัดสินใจในการดำเนินกลยุทธ์มีความแม่นยำมากยิ่งขึ้น การประชุมระดมความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อกำหนดแนวทางจัดทำแผนปฏิบัติการดิจิทัล มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ พ.ศ. 2568-2571 ที่จัดขึ้น โดยจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในทุกภาคส่วนของมหาวิทยาลัยในครั้งนี้ นับเป็นโอกาสดีที่เราจะได้ร่วมกันสร้างแผนปฏิบัติการดิจิทัล ที่ครอบคลุมและมีความยืดหยุ่นจากหลายมุมมอง ทำให้แผนปฏิบัติการดิจิทัลของเรา สามารถปรับให้เข้ากับความต้องการอย่างหลากหลาย และรองรับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีในอนาคต บรรลุตามเป้าหมายที่ตั้งไว้
ด้าน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณิชนันทน์ กิตติพัฒนบวร ผู้ช่วยอธิการบดี กล่าวว่า ที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ได้ดำเนินงานตามแผนพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัล มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ระยะ 4 ปี (พ.ศ. 2563-2567) ในการจัดเตรียมโครงสร้างพื้นฐานระบบเครือข่ายให้รองรับระบบเทคโนโลยีสารสนเทศของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เพื่อมุ่งไปสู่มหาวิทยาลัยอัจฉริยะ 10 ด้าน ได้แก่ (1) Smart IT Infrastructure (2) Smart Organization (3) Smart Learning (4) Smart Classroom (5) Smart Life & Health (6) Smart Hospital (7) Smart Transportation (8) Smart Security (9) Smart Green University และ (10) Smart Farming ซึ่งแผนดังกล่าวสิ้นสุดในปี 2567 นี้ ในวาระนี้ จึงถึงเวลาที่จะได้ทบทวนแผนเดิม และจัดทำแผนปฏิบัติการดิจิทัล มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ พ.ศ. 2568-2571 ขึ้นใหม่ เพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินงานและนำมหาวิทยาลัยสู่การเป็นผู้นำด้านดิจิทัลต่อไป
โดยแผนดังกล่าว ควรจะมาจากความคิดเห็นร่วมกันจากทุกภาคส่วน จึงจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นและระดมสมอง รวบรวมความคิดเห็น และข้อเสนอแนะ เพื่อให้ได้แผนปฏิบัติการดิจิทัลที่มีความครอบคลุม และสามารถนำไปปฏิบัติได้จริง แล้วนำมากำหนดทิศทางและแผนการดำเนินงานที่ชัดเจนและมีประสิทธิภาพ โดยมีการแบ่งกลุ่มจัดกิจกรรมเป็น 7 กลุ่ม ได้แก่ 1) กลุ่มผู้บริหารระดับรองอธิการบดีและผู้ช่วยอธิการบดี 2) กลุ่มผู้บริหารระดับผู้อำนวยการศูนย์ สถาบัน และอุทยาน 3) กลุ่มพนักงานสายวิชาการ ประกอบด้วย คณบดี อาจารย์ และเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานในสำนักวิชาและวิทยาลัย 4) กลุ่มพนักงานสายปฏิบัติการวิชาชีพและบริหารทั่วไป ซึ่งมีผู้แทนเข้าร่วมการประชุม คือ หัวหน้าส่วน หัวหน้าฝ่าย และหัวหน้างาน 5) กลุ่มผู้ปฏิบัติงานด้านสารสนเทศ ศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ 6) กลุ่มผู้แทนนักศึกษา ประกอบด้วย องค์การบริหารนักศึกษา ประธานชมรม นายกสโมสร และสภานักศึกษา และ 7) กลุ่มพนักงานศูนย์เทคโนโลยีดิจิทัล
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณิชนันทน์ กล่าวอีกว่า การจัดประชุมในครั้งนี้ จัดขึ้นสำหรับกลุ่มพนักงานสายวิชาการ ซึ่งมีผู้เข้าร่วมประชุมจำนวน 31 คน จาก 20 หน่วยงาน มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อกำหนดทิศทางในการพัฒนามหาวิทยาลัยสู่มหาวิทยาลัยดิจิทัล ทั้งในด้านโครงสร้างพื้นฐาน เทคโนโลยีสารสนเทศ การพัฒนาทักษะดิจิทัลของนักศึกษาและบุคลากร รวมถึงการนำปัญญาประดิษฐ์ (AI) เข้ามาใช้เพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานและการบริหารงาน
จากนั้นกิจกรรมในการประชุมระดมความคิดเห็นฯ เป็นการนำเสนอกรอบนโยบายการจัดทำแผนปฏิบัติการดิจิทัล โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณิชนันทน์ กิตติพัฒนบวร การชี้แจงร่างแผนปฏิบัติการดิจิทัล โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ฐิมาพร เพชรแก้ว กิจกรรมแบ่งกลุ่มระดมความคิดเห็นต่อแผนปฏิบัติการฯ และการนำเสนอผลการระดมความคิดเห็นของแต่ละกลุ่ม