ม.วลัยลักษณ์ ร่วมภาคีฯ จัดประชุมเชิงปฏิบัติการเขียนแผนพัฒนา “ท่าศาลา เมืองอัจฉริยะ” มุ่งสร้างเมืองท่าศาลาให้ทันสมัย ปลอดภัยและมีความสุข

วันนี้ (18 มิ.ย.64) เวลา 09.00น. ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการเขียนแผนพัฒนา “ท่าศาลา เมืองอัจฉริยะ” (Thasala Smart City) ร่วมกับ รองศาสตราจารย์ ดร.สุวิทย์ วุฒิสุทธิเมธาวี รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร ดร.เปรมฤดี นุ่นสังข์ ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีดิจิทัล ม.วลัยลักษณ์ โดยมีนายวีระพรรณ สุขะวัลลิ  นายอำเภอท่าศาลา เข้าร่วมรับฟังการนำเสนอเป้าหมายและทิศทางในการขับเคลื่อนไปสู่เมืองอัจฉริยะจากตัวแทนหน่วยงานราชการและภาคเอกชน ณ ห้องประชุมเขาหลวง ชั้น 2 อาคารสหกิจศึกษา พร้อมการประชุมออนไลน์ผ่านแอปพลิเคชัน Zoom ตามมาตรการป้องกันและควบคุมการติดต่อโรคโควิด-19

ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อธิการบดี กล่าวในการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อเขียนแผนพัฒนา “ท่าศาลา เมืองอัจฉริยะ (Thasala Smart City)” ว่า มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ มีแผนพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลเรื่องเมืองอัจฉริยะ โดยมุ่งเน้นการขับเคลื่อนไปสู่ Smart University 10 ด้าน ได้แก่ 1) โครงสร้างพื้นฐานระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ (Smart IT Infrastructure) โดยการพัฒนาเครือข่ายสัณญาณอินเทอร์เน็ตในหอพักให้นักกศึกษาและอาจารย์ให้เร็วมากขึ้น รวมทั้งพื้นที่ส่วนรวมอื่นๆ 2) ระบบบริหารจัดการองค์กรอัจฉริยะ (Smart Organization) โดยมหาวิทยาลัยได้นำระบบบริหารจัดการสำนักงานดิจิทัล (DOMS) มาช่วยบริหารจัดการให้เป็นสำนักงานไร้กระดาษ และการลงลายมือชื่อทางอิเล็กทรอนิกส์ในกระบวนงานจัดทำเอกสารเพื่อลงนาม การพิจารณาสั่งการ การให้ความเห็น การอนุมัติ ที่ถูกต้องตามกฎหมาย  ขจัดปัญหาเรื่องการทำงานแบบเดิมที่ต้องลงนามในกระดาษ และต้องทำงานในสำนักงานเท่านั้น จึงไม่มีความสะดวกหากบุคลากร หรือผู้บริหารอยู่นอกพื้นที่ก็ไม่สามารถสอนุมัติสั่งการได้ 3) การจัดการเรียนการสอน (Smart Learning) เป็นการจัดการเรียนการสอนที่ผสมผสานระหว่างการสอนในห้องเรียนปกติกับการสอนออนไลน์ ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 มีเทคโนโลยีดิจิทัลที่รองรับกระบวนการเรียนการสอน และเอื้อประโยชน์ให้นักศึกษาสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง ทุกที่ ทุกเวลา 4) การบริหารห้องเรียนอัจฉริยะ (Smart Classroom) ขณะนี้มหาวิทยาลัยมีห้องเรียนอัจฉริยะทั้งหมอ72 ห้องและอาคารเรียนที่กำลังก่อสร้างใกล้แล้วเสร็จที่จะเป็นห้องเรียนอัจฉริยะทั้งหมดเพื่อช่วยอำนวยความสะดวกในการเรียนรู้และการสอนให้กับคณาจารย์และนักศึกษา 5) การส่งเสริมคุณภาพชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัย (Smart Life & Health) การปรับปรุงสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการเรียนรู้ ทั้งหอพัก สวนวลัยลักษณ์ ศูนย์อาหารช่อประดู่ เป็นต้น รวมทั้งการปรับปรุงสนามกีฬาทุกประเภทให้ได้มาตรฐานสากลเพื่อความสุขและสุขภาพที่ดีของทุกคน 6) ระบบศูนย์การแพทย์อัจฉริยะ (Smart Hospital) โดยการพัฒนาศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ให้มีศักยภาพสูงและเป็นเสาหลักด้านสุขภาวะของประชาชนในพื้นที่ภาคใต้ตอนบน 7) ระบบการขนส่งอัจฉริยะ (Smart Transportation) โดยการนำรถไฟฟ้ามาอำนวยความสะดวกให้แก่นักศึกษาและบุคลากร เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ประหยัดพลังงาน ลดการสูญเสียและการรอคอย การพัฒนาระบบเครือข่ายรองรับ Smart Transportation ระบบบริหารจัดการโลจิสติกส์ พร้อม Mobile Application เพื่อสนับสนุนการให้บริการยานพาหนะแบบอัจฉริยะ 8) ความปลอดภัยอัจฉริยะ (Smart Security) ขณะนี้มหาวิทยาลัยมีกล้อง CCTV จำนวน 550 ตัวทั่วพื้นที่มหาวิทยาลัย พร้อมห้องควบคุมและเจ้าหน้าที่ดูแลตลอด 24 ชม. ตลอดจนเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยและสายตรวจที่ช่วยให้มั่นใจในความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน 9) การเป็นมหาวิทยาลัยสีเขียว (Smart Green University) มหาวิทยาลัยอินโดนีเซีย (UI GreenMetric World University Ranking) ได้ประกาศผล การจัดอันดับ มหาวิทยาลัยสีเขียวโลก ปี 2020 ผลคือ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เป็นมหาวิทยาลัยสีเขียวอันดับ 1 ของภาคใต้ และ 10) สมาร์ทฟาร์ม (Smart Farming) ด้วยการพัฒนาต้นแบบ Smart Farming ที่มีระบบสารสนเทศบริหารจัดการฟาร์มแบบครบวงจรตั้งแต่การเตรียมดิน เพาะปลูก ใส่ปุ๋ย การตลาด การขนส่ง ช่องทางการจัดจำหน่าย ต้นทุน และรายได้ โดยเป็นระบบอัจฉริยะ ออนไลน์ เรียลไทม์ ประยุกต์ใช้โดรน (Drone) ในการบริหารจัดการฟาร์ม

          ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า จากวิสัยทัศน์ของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ “เป็นองค์การธรรมรัฐ เป็นแหล่งเรียนรู้ เป็นหลักในถิ่น เป็นเลิศสู่สากล” ดังนั้นมหาวิทยาลัยจึงมีแนวคิดในการสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนพัฒนาเมืองท่าศาลา ไปสู่ Thasala Smart City โดยให้ประชาชนในเมืองท่าศาลา ได้อยู่อาศัยในเมืองอย่างปลอดภัยและมีความสุข มีความสะดวกสบายในการติดต่อกับหน่วยงานภาครัฐและทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องแบบ One Stop Service โดยในเบื้องต้นได้ร่วมคิดถึงความ Smart ใน 6 ด้าน ได้แก่ 1) Smart Mobility ระบบให้บริการยานพาหนะในการเดินทางแบบอัจฉริยะ 2) Smart Environment ระบบแจ้งเตือนภัยพิบัติ ระบบรายงานข้อมูลสถานีวัดอากาศ 3) Smart Living ระบบความปลอดภัยโดยติดตั้งกล้องวงจรปิด ที่สามารถตรวจจับใบหน้า ป้ายทะเบียนรถยนต์ รถมอเตอร์ไซด์ ตรวจจับความเร็วรถยนต์ เป็นต้น 4) Smart Governance เป็นการสร้างช่องทางติดต่อประสานงานระหว่างประชาชนกับหน่วยงานภาครัฐ ผ่านแอพลิเคชั่นและ One Stop Service 5) Smart Economy พัฒนาแพลตฟอร์มในการขายสินค้าออนไลน์ให้กับชุมชน มีการอบรมและให้ความรู้ในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า การออกแบบ Packaging ของผลิตภัณฑ์ต่างๆ ให้กับประชาชนและ 6) Smart Energy การใช้พลังงานทดแทน เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานกังหันลมเพื่อลดค่าใช้จ่ายและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

          การประชุมเชิงปฏิบัติการการเขียนแผนพัฒนา “ท่าศาลา เมืองอัจฉริยะ (Thasala Smart City)” ในครั้งนี้ ได้รับเกียรติจากทีมวิทยากรจากสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล และ บมจ. แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส มาให้ความรู้ในการจัดทำแผนพัฒนาท่าศาลาเมืองอัจฉริยะ ทางระบบออนไลน์ผ่านแอปพลิเคชัน Microsoft Team พร้อมผู้ร่วมประชุมจากหน่วยงานราชการอำเภอท่าศาลา เทศบาลตำบลท่าศาลา องค์การบริหารส่วนตำบลท่าศาลาและสถานีตำรวจภูธรท่าศาลาและผู้เกี่ยวข้อง เข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้ ภายใต้มาตรการป้องกันและควบคุมการติดต่อโรคโควิด-19 อย่างเคร่งครัด

ขอขอบคุณ ข่าวและภาพโดย นางสาวชลธิชา ปานแก้ว ส่วนสื่อสารองค์กร และทีมงานศูนย์เทคโนโลยีดิจิทัล

Comments

comments