เฉพาะนักศึกษาชั้นปีที่ 1 สามารถใช้งานอีเมล์ Google ของมหาวิทยาลัยได้แล้ว โดยวิธีการใช้งานสามารถทำตามขั้นตอนของคู่มือดังต่อไปนี้

https://drive.google.com/file/d/0B3i_xKLNSz0HQzJxQW1NcDR1b1VwYUNEODZhRHhZY3lPLW5N/view?usp=sharing

ส่วนนักศึกษาชั้นปี 2 ขึ้นไปและบัณฑิตศึกษาโปรดรอการดำเนินการทางบัญชีผู้ใช้งานอีกระยะหนึ่ง ซึ่งเร็วๆ นี้จะสามารถใช้งานครบทั้งมหาวิทยาลัย

ข้อแนะนำ: การใช้งานนั้นไม่ควรเก็บไฟล์ที่สำคัญไว้ในบัญชีอีเมล์นี้เพียงที่เดียว ควรสำรองข้อมูลตนเองไว้หลายแห่ง เพื่อป้องกันความเสียที่ไม่คาดคิดที่อาจเกิดขึ้นได้จากผู้ให้บริการ

หากมีข้อสงสัยประการใดโปรดติดต่อ โทร. 075-673455 คุณวิชชุกร หรือ 075-673400 DTC Call Center

ตามที่ศูนย์เทคโนโลยีดิจิทัลจัดการประกวดเว็บไซต์ที่พัฒนาด้วย WordPress ขึ้น เพื่อให้บุคลากรผู้ดูแลเว็บไซต์หน่วยงานได้แสดงศักยภาพด้านความคิด การออกแบบ และการจัดทำ Content ในเว็บไซต์ ได้อย่างสวยงาม เหมาะสม และมีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญของการจัดทำเว็บไซต์เพื่อเป็นสื่อในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารและสร้างภาพลักษณ์ของหน่วยงาน นั้น

บัดนี้ คณะกรรมการได้ทำการประชุมประเมินผลคะแนนและตัดสินโครงการฯ ดังกล่าว เรียบร้อยแล้ว จึงขอประกาศผลการตัดสินโครงการประกวดเว็บไซต์หน่วยงานที่พัฒนาด้วย WordPress ดังนี้
รางวัลชนะเลิศ อันดับที่ 1 ได้แก่
ศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ https://hospital.wu.ac.th/
รางวัลชนะเลิศ อันดับที่ 2 ได้แก่
อาศรมวัฒนธรรมวลัยลักษณ์ https://wacc.wu.ac.th/
รางวัลชนะเลิศ อันดับที่ 3 ได้แก่
อุทยานพฤกษศาสตร์ http://botany.wu.ac.th
สำนักวิชาแพทยศาสตร์ https://smd.wu.ac.th

ทั้งนี้ จะมีพิธีมอบของรางวัลที่ระลึกและเกียรติบัตรแก่หน่วยงานที่ได้รับรางวัล โดย ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ รักษาการแทนอธิการบดี มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ในพิธีก่อนวาระการประชุมที่ประชุมบริหาร ครั้งที่ 9/2560 วันพุธที่ 13 กันยายน 2560

ศูนย์เทคโนโลยีดิจิทัลขอแสดงความยินดีกับหน่วยงานที่ชนะการประกวด และขอขอบคุณหน่วยงานที่สมัครเข้าร่วมโครงการทุกหน่วยงาน มา ณ โอกาสนี้

ศูนย์เทคโนโลยีดิจิทัลขอเชิญชวนบุคลากรผู้สนใจหรือหน่วยงานเข้าร่วมโครงการประกวดเว็บไซต์หน่วยงานที่พัฒนาด้วย WordPress โดยมีกำหนดการดังนี้ 26 ก.ค. – 4 ส.ค. 2560 รับสมัครหน่วยงานเข้าร่วมประกวด 26 ก.ค. – 25 ส.ค. 2560 ทำการออกแบบ/ปรับปรุงเว็บไซต์ 28 – 31 ส.ค. 2560 กรรมการตัดสินผลงาน 1 ก.ย. 2560 ประกาศผลการตัดสิน ผู้สนใจติดต่อโทร. 3463, 3422 หรือตอบรับทางอีเมล์ ccs@wu.ac.th

คลิกลงทะเบียนประกวด  goo.gl/Rk7jo5

รายละเอียดเพิ่มเติม

เพื่อให้ผู้ใช้บริการอินเทอร์เน็ตของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ปฏิบัติตนถูกต้อง ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2560 ได้กำหนดไว้ จึงขอความร่วมมือผู้ใช้บริการทุกท่านถือปฏิบัติ ในการเข้าระบบพิสูจน์ตัวตนก่อนการเข้าใช้งานอินเทอร์เน็ตของมหาวิทยาลัยทุกครั้ง ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 15 กรกฎาคม 2560 เป็นต้นไป รายละเอียดการใช้งาน คู่มือการ-Login-เครือข่ายสาย ระบบพิสูจน์ตัวตน สำหรับการใช้งานอินเทอร์เน็ตมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ที่ส่งมาด้วยนี้ ทั้งนี้ หากมีข้อสงสัยในการใช้งานหรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อที่ Call Center โทรศัพท์ภายใน 3400 หรือ นายจักรินทร์ ล้วนศิริ โทรศัพท์ภายใน 3448

ฝ่ายวิจัยและพัฒนาระบบสารสนเทศ ศูนย์เทคโนโลยีดิจิทัล มีภารกิจในการพัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อใช้ในการสนับสนุนการดำเนินงานของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ทั้ง 4 ด้าน ได้แก่ การเรียนการสอน การวิจัย บริการวิชาการ และทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม เพื่อตอบสนองความต้องการของนักศึกษา พนักงานสายวิชาการ พนักงานสายปฏิบัติการ และผู้บริหาร โดยมีแนวทางการดำเนินงานแบบรวมบริการประสานพันธกิจ แต่ในปัจจุบันพบว่ายังมีกระบวนการทำงานที่ยังต้องอาศัยกระดาษจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้กระดาษในการจัดการเรียนการสอน และ/หรือ การประชุมเพื่อเตรียมงาน และการบริหารงาน เนื่องด้วยเหตุผลของระเบียบและข้อบังคับการปฏิบัติงานของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

            แนวคิดการเปลี่ยนรูปแบบการทำงานจากองค์กรที่พึ่งพิงกระดาษไปสู่องค์กรไร้กระดาษ (Paperless) มีความพยายามที่จะดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2545 แต่ยังไม่เป็นรูปธรรมชัดเจน จนถึงปัจจุบันท่านอธิการบดี ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ ได้มีการประกาศเป็นนโยบายอย่างชัดเจน เมื่อ 16 มีนาคม  2560 โดยมีผู้รับผิดชอบหลักคือส่วนอำนวยการและสารบรรณร่วมกับศูนย์เทคโนโลยีดิจิทัล  ถือเป็นประเด็นหลักที่สำคัญที่จะสามารถนำองค์กรที่พึ่งพิงกระดาษไปสู่องค์กรไร้กระดาษ นอกเหนือไปจากประเด็นสำคัญอื่น ๆ อีกที่ต้องพิจารณา ได้แก่ เหตุผลหลักที่ยังให้ความสำคัญกับการใช้กระดาษ  การปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กร พฤติกรรมในการลดการใช้กระดาษ การสร้างการมีส่วนร่วมในการลดค่าใช้จ่ายให้กับองค์กร การให้ความรู้และประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากการลดการใช้กระดาษ การเตรียมฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์และอินเตอร์เน็ตเพื่ออำนวยความสะดวกในการทำงาน ความสะดวกรวดเร็วและง่ายในการเข้าถึง และใช้ระบบเอกสารดิจิทัลและแบ่งปันไฟล์ร่วมกันความปลอดภัยในการเก็บรักษาและสิทธิ์การเข้าถึงเอกสารดิจิทัลที่สำคัญในระดับต่างๆ

          ศูนย์เทคโนโลยีดิจิทัล ในฐานะหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบ จึงสนใจที่จะศึกษารูปแบบการนำนโยบายสำนักงานไร้กระดาษสู่การปฏิบัติของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ภายใต้ชื่อ Smart University โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษารูปแบบหรือกระบวนการนำนโยบายสำนักงานไร้กระดาษสู่การปฏิบัติผ่านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ และผลของการนำนโยบายสำนักงานไร้กระดาษสู่การปฎิบัติ ผลการศึกษาจะช่วยให้มหาวิทยาลัยมีการทบทวนกระบวนการทำงานต่างๆ และปรับปรุงรูปแบบการทำงานที่มีการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาประยุกต์ใช้ได้อย่างเหมาะสม และมีความปลอดภัยของข้อมูลระบบดิจิทัล เพื่อให้กระบวนพึ่งพาระบบกระดาษลดลง ลดการสูญเสีย แต่เพิ่มคุณค่ามากขึ้น และปลูกฝังแนวคิดเรื่องงานคือสิ่งที่เราควรทำ มิใช่ งานคือสิ่งที่เรากำลังทำอยู่ รวมถึงจะช่วยให้ทราบถึงปัญหาและแนวทางการแก้ปัญหาที่แท้จริง โดยภาพรวมของการพัฒนาระบบจะแบบเป็นระบบสารสนเทศต่าง ๆ แสดงดังภาพรวม Smart University การพัฒนาระบบสารสนเทศสำหรับมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ โดยจะแนะนำให้รายละเอียดแต่ระบบของ Smart University ในฉบับต่อไป

 

 

ภาพรวม Smart University การพัฒนาระบบสารสนเทศสำหรับมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

ด้วย พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 Computer-Law และที่ปรับปรุงแก้ไข พ.ศ. 2560 การกระทำที่ถือเป็นความผิดตาม พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ มีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2550 โดยมีเจตนารมณ์เพื่อกำหนดฐานความผิด บทลงโทษ และอำนาจหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่ ซึ่งมีความรู้และความเชี่ยวชาญในการสืบสวนสอบสวนเกี่ยวการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ร่วมกับหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งกำหนดหน้าที่ของผู้ให้บริการ ซึ่งมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการเก็บรักษาข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ อันจะใช้เป็นพยานหลักฐานที่สำคัญในการนำตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษการบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้ จึงนับเป็นโครงสร้างพื้นทางกฎหมายที่มีคุณประโยชน์อย่างยิ่ง หากแต่ก็อาจส่งผลกระทบต่อการดำเนินวิถีชีวิตของผู้คนในสังคมได้เช่นกัน ดังนั้น เพื่อให้กฎหมายมีความยืดหยุ่นและสามารถบังคับใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ในกฎหมายฉบับนี้หลายมาตรา จึงได้กำหนดให้มีการตรากฎหมายลำดับรองหรือกฎหมายลูก เพื่อกำหนดรายละเอียดที่มีความสำคัญไว้หลายเรื่องด้วยกัน รวมทั้งเพื่อให้กฎหมายลูกนั้นสามารถปรับปรุงให้ทันสมัยตลอดเวลา

 

          เนื่องจากศูนย์เทคโนโลยีดิจิทัล มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ กำลังดำเนินการพัฒนาปรับปรุงระบบเครือข่ายสารสนเทศให้มีประสิทธิภาพในการรองรับ นักศึกษา อาจารย์ และบุคลากร ตลอดจนรองรับต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 และที่ปรับปรุงแก้ไข พ.ศ. 2560 ศูนย์เทคโนโลยีดิจิทัล จึงมีหน้าที่ต้องจัดเก็บข้อมูลการจราจรการใช้งานของเครือข่ายคอมพิวเตอร์เป็นจำนวนอย่างน้อย 90 วัน ศูนย์เทคโนโลยีดิจิทัลจึงได้ดำเนินการจัดทำระเบียนผู้ใช้ โดยทำการติดตั้งระบบ Authentication Server ภายในมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เพื่อบันทึกข้อมูล การใช้งานระบบเครือข่ายทั้งหมด มีผลทำให้สมาชิกผู้ใช้งานระบบเครือข่ายทุกท่านภายในมหาวิทยาลัยจะต้องทำการตรวจสอบสิทธิ์ยืนยันตัวตนในการใช้บริการอินเตอร์เน็ตผ่านเครือข่ายของมหาวิทยาลัย ทั้งนักศึกษา บุคลากร อาจารย์ของมหาวิทยาลัย และผู้ที่มาจากภายนอกมหาวิทยาลัยที่ขออนุญาตใช้งานเครือข่ายคอมพิวเตอร์ของมหาวิทยาลัย โดยได้กำหนดผู้ใช้งานต้องมี “ชื่อบัญชีผู้ใช้งาน (User ID)” และ “รหัสผ่าน (Password)” จึงจะสามารถใช้งานเครือข่ายของมหาวิทยาลัยได้ โดยผู้ได้รับการจัดสรรจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบตามพระราชบัญญัติ และห้ามผู้ใช้งานนำ “ชื่อบัญชีผู้ใช้งาน” และ “รหัสผ่าน” เผยแพร่ให้ผู้อื่นทราบ และหากเจ้าของบัญชีทำชื่อบัญชีและรหัสผ่านสูญหาย หรือจำไม่ได้ หรือคาดว่าจะถูกผู้อื่นนำไปใช้งาน ควรที่จะรีบปรึกษาแจ้งศูนย์เทคโนโลยีดิจิทัลโดยด่วน โทร 0 75 67 3400

 

เรื่อง การกระทําที่ถือเป็นความผิด ตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทําความผิด เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 และที่ปรับปรุงแก้ไข พ.ศ. 2560

ฝ่ายบริการระบบเครือข่ายและสื่อสาร ศูนย์เทคโนโลยีดิจิทัล ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการกระทําความผิด เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ จึงขอเผยแพร่ให้ความรู้เกี่ยวกับการกระทําความผิด เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ เนื่องจากในปัจจุบันการใช้งานคอมพิวเตอร์และมือถือได้เป็นส่วนสำคัญในชีวิตปกติประจำวันของมนุษย์ ซึ่งมีทั้งกิจกรรมส่วนตัวและการงาน ซึ่งหากมีผู้กระทำด้วยประการใด ๆ ที่ให้เกิดความเสียหาย ทั้งการที่ทำให้ระบบคอมพิวเตอร์ไม่สามารถทำงานตามคำสั่งที่กำหนดไว้ หรือทำให้การทำงานผิดพลาดไปจากคำสั่งที่กำหนดไว้ หรือใช้วิธีการใด ๆ เข้าล่วงรู้ข้อมูล แก้ไข หรือทำลายข้อมูลของบุคคลอื่นในระบบคอมพิวเตอร์โดยมิชอบ หรือใช้ระบบคอมพิวเตอร์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จหรือมีลักษณะอันลามกอนาจาร ย่อมก่อให้เกิดความเสียหาย กระทบกระเทือนต่อเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคงของรัฐ รวมทั้งความสงบสุขและศีลธรรมอันดีของประชาชน จึงได้มาการกำหนดมาตรการเพื่อป้องกันและปราบปรามการกระทำดังกล่าว และตราพระราชบัญญัตินี้ โดยมีเนื้อหาใจความสรุปย่อเพื่อให้เข้าใจได้ง่ายดังนี้ การกระทำที่ถือเป็นความผิดตาม พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ ส่วนเนื้อหาฉบับเต็มสามารถอ่านได้จากเอกสารนี้ Computer-Law

เรื่อง เกณฑ์ราคากลางและคุณลักษณะพื้นฐานครุภัณฑ์คอมพิวเตอร์ ประจำปี พ.ศ. 2560 ณ วันท่ี 21 เมษายน 2560

ฝ่ายระบบเครือข่ายและสื่อสาร ศูนย์เทคโนโลยีดิจิทัล ได้เห็นว่า หน่วยงานของรัฐและมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์นั้นมีความเกี่ยวข้องในการจัดซื้อจัดจ้างครุภัณฑ์คอมพิวเตอร์อยู่เป็นประจำ เพื่ออำนวยความสะดวกในการค้นหาข้อมูลเกณฑ์ราคากลางและคุณลักษณะพื้นฐานครุภัณฑ์คอมพิวเตอร์ที่ถูกต้องเหมาะสม จึงขอเผยแพร่เอกสารที่เป็นประโยชน์ ดังต่อไปนี้ เกณฑ์ราคากลางและคุณลักษณะพื้นฐานครุภัณฑ์คอมพิวเตอร์ ประจำปี พ.ศ. 2560

 

 

 

 

 

 

ศูนย์เทคโนโลยีดิจิทัล มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ได้ทำการปรับเปลี่ยนโปรแกรมป้องกันไวรัสคอมพิวเตอร์ใหม่ แทนตัวเดิม ทั้งนี้ท่านสามารถดำเนินการติดตั้งได้ด้วยตัวเอง ดังรายละเอียดในคู่มือ manaul Antivirus หากมีข้อสงสัยประการใดติดต่อ Call Center โทร. 3400 หรือ ผู้ดูแลระบบโทร. 3466