ศูนย์เทคโนโลยีดิจิทัล มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จัดโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการวิธีการทำงานรูปแบบ Scrum ประจำปีงบประมาณ 2568 ให้แก่ เจ้าหน้าที่วิเคราะห์ระบบงานคอมพิวเตอร์

ระหว่างวันที่ 21 – 23 พฤศจิกายน 2567 ศูนย์เทคโนโลยีดิจิทัล มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จัดโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการวิธีการทำงานรูปแบบ Scrum ประจำปีงบประมาณ 2568  ให้แก่ เจ้าหน้าที่วิเคราะห์ระบบงานคอมพิวเตอร์ ศูนย์เทคโนโลยีดิจิทัล ณ ห้องประชุม 2 อาคารคอมพิวเตอร์มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

ศูนย์เทคโนโลยีดิจิทัล มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เป็นหน่วยงานที่มีการพัฒนาระบบสารสนเทศขึ้นเพื่อใช้งานภายในหน่วยงาน โดยมีการพัฒนาระบบสารสนเทศร่วมกันในลักษณะการทำงานเป็นทีมและนำกระบวนการทำงานแบบ Agile มาใช้ในรูปแบบ Scrum เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานเป็นทีมโดยสามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็วและตรงตามความต้องการ ศูนย์เทคโนโลยีดิจิทัลจึงจัดทำโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ วิธีการทำงานรูปแบบ Scrum ประจำปีงบประมาณ 2568 ให้สามารถนำมาใช้ในกระบวนการพัฒนาระบบสารสนเทศของมหาวิทยาลัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ

หลักสูตรการจัดอบรมมีดังนี้

  1. Workshop วิธีการทำงานแบบ SCRUM
  2. Agile Manifesto
  3. Scrum Overview
  4. Scrum บทบาท PO/SM/Team
  5. Backlog Refinement
  6. Sprint Plannin

โดยได้รับเกียรติจากทีมวิทยากรผู้เชี่ยวชาญ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ดร.ฐิมาพร เพชรแก้วรักษาการแทนผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีดิจิทัล

ศูนย์เทคโนโลยีดิจิทัล ร่วมกับ ศูนย์ความเป็นเลิศการเรียนการสอน อบรมเชิงปฏิบัติการ หัวข้อ e-Learning เพื่อการเรียนการสอนเชิงรุก ให้แก่อาจารย์ใหม่

เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2567 เวลา 09.00 -11.30 น. ศูนย์ความเป็นเลิศการเรียนการสอน ร่วมกับ ศูนย์เทคโนโลยีดิจิทัล ได้จัดอบรมเชิงปฏิบัติการ หัวข้อ e-Learning เพื่อการเรียนการสอนเชิงรุก โดยเน้นระบบบริหารการจัดการเรียนรู้  WU e-Learning ในการเข้าใช้งาน การสร้างรายวิชา การจัดการเนื้อหารายวิชา การจัดการกิจกรรม รวมถึงการนำเข้าข้อมูลอาจารย์และนักศึกษา ณ ห้องประชุมของศูนย์ความเป็นเลิศการเรียนการสอน  ในครั้งนี้วิทยากรโดย นางสาวจุฬาพร พันธ์กำเหนิด  เจ้าหน้าที่วิเคราะห์ระบบงานคอมพิวเตอร์ ศูนย์เทคโนโลยีดิจิทัล และวิทยากรผู้ช่วยโดย นางสาวภัทรานิษฐ์ โยธินวัฒนบำรุง เจ้าหน้าที่บริหารงานทั่วไป ศูนย์ความเป็นเลิศการเรียนการสอน มีจำนวนอาจารย์เข้าร่วมอบรมทั้งสิ้น 19 คน

บุคลากรศูนย์เทคโนโลยีดิจิทัล มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เข้าร่วมอบรมหลักสูตรประกาศนียบัตรด้านการเจาะระบบอย่างมีจริยธรรม Certified Ethical Hacker รุ่นที่ 3 

นายวิศิษฏ์ เรืองพรหม วิศวกร ศูนย์เทคโนโลยีดิจิทัล เข้าร่วมอบรมหลักสูตรประกาศนียบัตรด้านการเจาะระบบอย่างมีจริยธรรม Certified Ethical Hacker (CEH) อ้างอิงตามหลักสูตรสากล EC-Council Certified Security Specialist CEH (เวอร์ชัน 12)

ระหว่างวันที่ 28 ตุลาคม 2568 ถึงวันที่ 1 พฤศจิกายน 2568 นายวิศิษฏ์ เรืองพรหม วิศวกร ศูนย์เทคโนโลยีดิจิทัล เข้าร่วมอบรมหลักสูตรประกาศนียบัตรด้านการเจาะระบบอย่างมีจริยธรรม Certified Ethical Hacker (CEH) อ้างอิงตามหลักสูตรสากล EC-Council Certified Security Specialist CEH (เวอร์ชัน 12) ซึ่งเป็นหลักสูตรด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ในระดับผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านที่มีเนื้อหาอ้างอิงตามหลักสูตรประกาศนียบัตรระดับสากลด้านการเจาะระบบอย่างมีจริยธรรม EC-Council CEH เวอร์ชัน 12 ในการฝึกอบรมเน้นการสอนให้ผู้เรียนมีความรู้และทักษะในด้านการทดสอบความปลอดภัยของระบบสารสนเทศและเครือข่าย โดยมุ่งเน้นการทดสอบด้วยวิธีการของผู้บุกรุกทางไซเบอร์ เพื่อค้นหาช่องโหว่และข้อบกพร่องในระบบ เพื่อป้องกันการบุกรุกจริงจากผู้ไม่ประสงค์ดี รุ่นที่ 3

ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ รับสนองพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ประกาศปฎิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ยึดมั่นหลักธรรมาภิบาล สร้างความเจริญก้าวหน้ามาสู่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์และประเทศชาติ

วันนี้ (31 ต.ค.67) เวลา 09:09 น. มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์จัดพิธีรับสนองพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม แต่งตั้ง ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ ให้ดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ต่อไปอีกวาระหนึ่ง โดยมีนายสุวัฒน์ จันทร์สุข รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช นายธีระชัย เชมนะสิริ นายกสภามหาวิทยาลัย คณะกรรมการสภามหาวิทยาลัย คณะผู้บริหาร บุคลากรนักศึกษามหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ หัวหน้าส่วนราชการภาครัฐเอกชน แขกผู้มีเกียรติและสื่อมวลชน เข้าร่วม ณ หอประชุมใหญ่ อาคารไทยบุรี

พิธีดังกล่าวเริ่มจาก ขบวนเชิญพระบรมราชโองการแต่งตั้งอธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เข้าสู่บริเวณพิธี ณ หอประชุมใหญ่ อาคารไทยบุรี รองศาสตราจารย์ ดร.สุวิทย์ วุฒิสุทธิเมธาวี รองอธิการบดี ได้อ่านพระบรมราชโองการแต่งตั้งอธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จากนั้น ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ ถวายความเคารพเบื้องหน้าหน้าพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เปิดกรวยถวายเครื่องราชสักการะ พร้อมถวายความเคารพและรับพระบรมราชโองการ ตามลำดับ

โอกาสนี้ ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ ได้กล่าวสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ความว่า “เนื่องในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าโปรดกระหม่อม แต่งตั้งให้ข้าพระพุทธเจ้า ดำรงตำแหน่งอธิการบดี มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เป็นวาระที่สอง ตั้งแต่วันที่ 30 มิถุนายน พุทธศักราช 2567 ข้าพระพุทธเจ้ารู้สึกสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณและถือเป็นเกียรติอันสูงยิ่งต่อตนเองและวงศ์ตระกูลอย่างหาที่สุดมิได้

ข้าพระพุทธเจ้าตระหนักดีว่า การดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เป็นหน้าที่ที่สำคัญต่อการพัฒนาการศึกษาของชาติ ต้องใช้ความรู้ ความสามารถ และความเสียสละทุ่มเทเป็นอย่างมาก เพื่อให้มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ยังประโยชน์สูงสุดแก่นักศึกษา ระบบการศึกษา ประเทศชาติ

รวมทั้งการพัฒนามหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ให้เป็นมหาวิทยาลัยแห่งคุณภาพ เป็นมหาวิทยาลัยวิจัยชั้นนำของประเทศที่จัดการเรียนการสอนได้ตามมาตรฐานสากล เพื่อให้บัณฑิตของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์เป็นบัณฑิตที่มีคุณภาพได้รับการยอมรับจากสังคม สมตามเจตนารมณ์ของการก่อตั้งมหาวิทยาลัย

ด้วยพระมหากรุณาธิคุณอันล้นพ้นแห่งองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งให้ข้าพระพุทธเจ้าดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ข้าพระพุทธเจ้าขอให้สัตย์ปฏิญาณว่าจะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความจงรักภักดี ซื่อสัตย์สุจริต และยึดมั่นในหลักธรรมาภิบาล คำนึงถึงประโยชน์ของประเทศชาติเป็นสำคัญ เพื่อเป็นองค์กรวิชาการที่สร้างความเจริญก้าวหน้ามาสู่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ตลอดจนสังคมท้องถิ่น และประเทศชาติ สืบไป”

เวลา 09:30-10.30 น. ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ บรรยายพิเศษหัวข้อ  “ทิศทางการพัฒนามหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ในทศวรรษหน้า” และในเวลา 10:30-10.50 น. แขกผู้มีเกียรติมอบของที่ระลึกและของแสดงความยินดีแก่ ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์

บุคลากรศูนย์เทคโนโลยีดิจิทัล แนะนำบริการของหน่วยงานให้แก่นักศึกษาใหม่ระดับบัณฑิตศึกษา ประจำภาคการศึกษาที่ 2/2567

วันอังคารที่ 29 ตุลาคม 2567 เวลา 09.00–13.00 น. นายไพศาล พุมดวง นายช่างเทคนิค ฝ่ายโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล เป็นผู้แทนจากศูนย์เทคโนโลีดิจิทัล เป็นวิทยากรแนะนำบริการต่าง ๆ ของศูนย์เทคโนโลยีดิจิทัล “Digital Services for the New Students” (WU Pass Registration/E-Mail Registration/Microsoft 365 Registration) ในกิจกรรมปฐมนิเทศนักศึกษาใหม่ระดับบัณฑิตศึกษา ประจำภาคการศึกษาที่ 2/2567 ณ ห้องประชุมเขาหลวงชั้น 2 อาคารสหกิจศึกษา มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ซึ่งบริการดังกล่าวมีความจำเป็นต่อการเรียนการสอนและการใช้ชีวิตในมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ สำหรับนักศึกษา ประกอบด้วย รหัสผู้ใช้งานพร้อมรหัสผ่านสำหรับใช้งานระบบอินเทอร์เน็ต อีเมล และ Microsoft 365 โดยมีนักศึกษาเข้าร่วมจำนวนทั้งสิ้น 28 คน เป็นนักศึกษาไทย จำนวน 18 คน และนักศึกษาต่างชาติ จำนวน 10 คน

บุคลากรศูนย์เทคโนโลยีดิจิทัล เข้าร่วมพิธีวางพวงมาลาและถวายบังคมเพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ เนื่องในวันคล้ายวันสวรรคตพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕

ผศ.ดร.ฐิมาพร เพชรแก้ว รักษาการแทนผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีดิจิทัล พร้อมด้วยบุคลากรศูนย์เทคโนโลยีดิจิทัล เข้าร่วมพิธีวางพวงมาลาและถวายบังคมเพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ เนื่องในวันคล้ายวันสวรรคตพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕

วันพุธที่ ๒๓ ตุลาคม ๒๕๖๗ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ นำโดย รศ.ดร.ศราวุธ ปาลิโภชน์ รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ พร้อมด้วย ผศ.ดร.ฐิมาพร เพชรแก้ว รักษาการแทนผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีดิจิทัล นางณัฐรดา เลขาพันธ์ นายพงศ์ธน ฤดีอัครเสรี บุคลากรศูนย์เทคโนโลยีดิจิทัล และบุคลากรหน่วยตรวจสอบภายใน เป็นผู้แทนมหาวิทยาลัยเข้าร่วมพิธีวางพวงมาลาและถวายบังคมเพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ เนื่องในวันคล้ายวันสวรรคตพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องในวันคล้ายวันสวรรคต ๒๓ ตุลาคม ๒๕๖๗ เพื่อแสดงออกถึงความจงรักภักดีและน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ที่ทรงอุทิศพระองค์ บำเพ็ญพระราชกรณียกิจนานัปการ และทรงปกครองพระราชอาณาจักรให้มีความมั่นคง และร่มเย็นเป็นสุขทั้งการปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน การปฏิรูประบบการเงินการคลัง การศึกษา การสาธารณูปโภค ทำให้ประเทศชาติพัฒนา ก้าวหน้าทันสมัย ทรงยกเลิกระบบทาส ระบบไพร่ และทรงนำศาสตร์การปกครองของไทยและชาติสากลมาผนวกใช้ในการปกครองพระราชอาณาจักร นำพาชาติบ้านเมืองให้ผ่านพ้นภัย ดำรงอธิปไตยและความเป็นเอกราชของชาติไว้ได้อย่างมั่นคง พระปรีชาสามารถและพระเกียรติยศเป็นที่ประจักษ์แก่นานาอารยประเทศ

“วันปิยมหาราช”  เป็นวันคล้ายวันสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ พระมหากษัตริย์ที่ทรงเป็นที่รักยิ่งของพสกนิกรไทย ด้วยพระมหากรุณาธิคุณทั้งในการปกครองบ้านเมือง และพระราชทานความร่มเย็นเป็นสุขแก่ประชาชนทุกหมู่เหล่า  ประชาชนชาวไทยจึงพร้อมใจกันถวายพระราชสมัญญานามพระองค์ “พระปิยมหาราช” อันมีความหมายว่า “พระมหากษัตริย์ที่ทรงเป็นที่รักยิ่งของปวงชน”

ผู้บริหารศูนย์เทคโนโลยีดิจิทัล เข้าร่วมการประชุม CIO University Digital Forum ครั้งที่ 22

ด้วยที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย สืบเนื่องจากการประชุม CIO Digital Forum โดยได้มีการ แลกเปลี่ยนความคิดเห็นด้านการบริหารสถาบันอุดมศึกษาเพื่อขับเคลื่อนสู่องค์กรดิจิทัล รองศาสตราจารย์ ดร.วรา วราวิทย์ ประธานคณะทำงานยุทธศาสตร์การปรับเปลี่ยนสู่ความเป็นดิจิทัลของสถาบันอุดมศึกษาไทย ทปอ. เล็งเห็นถึงความสำคัญของการขับเคลื่อนความเป็นดิจิทัล สู่มุ่งสถาบันการอุดมศึกษา จึงได้มีการกำหนดให้มีการจัดการประชุม Coursera ร่วมกับ Digital University Forum

และเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2567 เวลา 08.30-17.00 น. ณ โรงแรม The St. Regis Bangkok ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ฐิมาพร เพชรแก้ว รักษาการแทนผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีดิจิทัล มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เข้าร่วมการประชุม CIO University Digital Forum ครั้งที่ 22 ภายใต้หัวข้อ Building Pathways to Opportunity

ผู้บริหารศูนย์เทคโนโลยีดิจิทัล เข้าร่วมกิจกรรมสัมมนา เพื่อส่งเสริมงานวิจัยและพัฒนาเครือข่ายวิจัยด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์

เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2567 อาจารย์ ดร.ชิระวัฒน์ วัฒนพานิช รักษาการแทนรองผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีดิจิทัล พร้อมด้วย นายวิศิษฏ์ เรืองพรหม และนายวิชชุกร ด่านเดชา เจ้าหน้าที่ศูนย์เทคโนโลยีดิจิทัล มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์  เข้าร่วมกิจกรรมสัมมนา เพื่อส่งเสริมงานวิจัยและพัฒนาเครือข่ายวิจัยด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์

 ด้วยสำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ มีพันธกิจในการส่งเสริมและสนับสนุนงานวิจัยและการพัฒนาเทคโนโลยีและองค์ความรู้ที่เกี่ยวกับการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์จึงได้มีการจัดกิจกรรมสัมมนา เพื่อส่งเสริมงานวิจัยและพัฒนาเครือข่ายวิจัยด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์เป็นการสร้างเครือข่าย แบ่งปันข้อมูลระหว่างนักวิจัย ส่งเสริมความร่วมมือในการบริหารจัดการความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ที่มีคุณค่าและเป็นประโยชน์ในการพัฒนาต่อยอดของนักวิจัยและองค์กรต่าง ๆ ด้านความมั่นคงปลอยภัยไซเบอร์อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล

 กิจกรรมภายในงานได้มีการบรรยายในหัวข้อดังนี้

  • เสวนา “นโยบายและยุทธศาสตร์ การสนับสนุนงานวิจัยด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์” โดย ผศ.ดร.วราภรณ์ พรหมวิกร ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ(สกมช.) ดร.ภาณุ ไทยนิรมิตร ผู้ช่วยผู้อำนวยการ (ด้านพัฒนาระบบ) อุทยานวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และดร.สมภพ ลิ้มสุนทรากูล รักษาการแทนรองหัวหน้าสาขาฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม สาขาวิทยาศาสตร์การคำนวณ คณะวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
  • บรรยาย “งานวิจัยและเทคโนโลยีด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ที่น่าจับตามอง”
  • นำเสนองานวิจัยเกี่ยวกับความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ โดย ผศ.ดร.ชิดชนก โชคสุชาติ รองผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมดิจิทัลและระบบอัจฉริยะด้านบริหาร บริการดิจิทัล และยุทธศาสตร์ข้อมูล และผศ.ดร.ชินพงศ์ อังสุโชติเมธี ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมดิจิทัลและระบบอัจฉริยะด้านบูรณาการ บริการดิจิทัลและพันธกิจสังคม
  • นำเสนอปัญหาที่พบในการเตรียมความพร้อมด้านไซเบอร์ ของหน่วยงาน นำไปสู่ความต้องการงานวิจัย โดย นายสงกรานต์ มุณีแนม วิศวกรชำนาญการ
  • นำเสนอระบบส่งเสริมงานวิจัย พัฒนาเครือข่ายวิจัย และอุตสาหกรรมด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ โดย สำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ
  • กิจกรรมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากผู้เข้าร่วมกิจกรรมสัมมนา

เปิดคลังวัสดุย่อย ศูนย์เทคโนโลยีดิจิทัล รับการตรวจนับคลังวัสดุ ประจำปีงบประมาณ 2567

วันพุธที่ 9 ตุลาคม 2567 เวลา 09.00-12.00 น. ณ ห้อง 116 ฝ่ายบริการเทคโนโลยีดิจิทัล ศูนย์เทคโนโลยีดิจิทัล ร่วมกับ หน่วยตรวจสอบภายใน มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เข้าร่วมสังเกตการตรวจสอบคลังวัสดุคอมพิวเตอร์ ศูนย์เทคโลยีดิจิทัล เพื่อตรวจสภาพและการคงอยู่ของวัสดุ ประจำปีงบประมาณ 2567 โดยมีคณะกรรมการศูนย์เทคโนโลยีดิจิทัล ร่วมกันดำเนินการจำนวน 4 คน ประกอบด้วย

  1. นายนันทชัย ไชยเสน
  2. นายสรพงศ์ ทินกร
  3. นางสาวณิรดา เพ็ชรคงทอง
  4. นางธารีย์ พรหมประสิทธิ์

โปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง ศ.ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ เป็นอธิการบดี ม.วลัยลักษณ์ สมัยที่สอง

พระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง ศ.ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ เป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ สมัยที่สอง

วันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๖๗ ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งอธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ความว่า..ตามที่ได้มีพระราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง นายสมบัติ ธํารงธัญวงศ์ ให้ดํารงตําแหน่ง อธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ตั้งแต่วันที่ ๑๐ ธันวาคม ๒๕๖๐ ตามประกาศสํานักนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ ๑๓ ธันวาคม ๒๕๖๐ นั้น เนื่องจาก นายสมบัติ ธํารงธัญวงศ์ ได้ดํารงตําแหน่งมาครบกําหนด ตามวาระแล้ว อาศัยอํานาจตามความในมาตรา ๒๒ แห่งพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ พ.ศ. ๒๕๓๕ ที่ประชุมสภามหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ครั้งที่ ๑/๒๕๖๕ (วาระลับ) เมื่อวันที่ ๘ มกราคม ๒๕๖๕ ได้มีมติเห็นชอบให้นําความกราบบังคมทูลพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง นายสมบัติ ธํารงธัญวงศ์ ดํารงตําแหน่ง อธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ต่อไปอีกวาระหนึ่ง

และสํานักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้นําความกราบบังคมทูลพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งแล้ว บัดนี้ ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งบุคคลดังกล่าวให้ดํารงตําแหน่ง อธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ตั้งแต่วันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๖๗

ประกาศ ณ วันที่ ๓๐ กันยายน พ.ศ. ๒๕๖๗