ศูนย์เทคโนโลยีดิจิทัล ร่วมทำกิจกรรมการบริการเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กับโรงเรียนวัดชนสังขรณพิจิตร

ศูนย์เทคโนโลยีดิจิทัล ให้การต้อนรับและร่วมทำกิจกรรมการเรียนรู้เทคโนโลยีสารสนเทศ กับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 -5 และ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 โรงเรียนวัดชนสังขรณพิจิตร จำนวน 50 คน พร้อมด้วยคุณครู 5 คน เมื่อวันที่ 5 มีนาคม2568 เวลา 13.00-16.00 น. ณ E-Testing4 อาคารคอมพิวเตอร์

นางณัฐรดา เลขาพันธ์ รักษาการแทนหัวหน้าฝ่ายบริหารทั่วไปและธุรการ พร้อมด้วยทีมงานจากฝ่ายบริการเทคโนโลยีดิจิทัล จำนวน 2 คน และฝ่ายบริหารทั่วไปและธุรการ 1 คน  ให้การต้อนรับและร่วมทำกิจกรรมการบริการเทคโนโลยีสารสนเทศ กับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 -5 และ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1  จากโรงเรียนวัดชนสังขรณพิจิตร ภายใต้โครงการ/กิจกรรมพัฒนาผู้เรียน  กิจกรรมให้ความรู้ด้านเทคโนโลยี

โดยมีการทำกิจกรรมการเรียนรู้ผ่านโปรแกรมคอมพิวเตอร์ เรียนรู้เกี่ยวกับอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ การสร้างภาพด้วย AI การใช้เครื่องมือบน Google และการใช้โปรแกรม ChatGPT  โดยได้รับเกียรติจาก นายอภิชาติ รักชอบ เป็นวิทยากรให้ความรู้แก่นักเรียน ศูนย์โรงเรียนวัดชนสังขรณพิจิตร ในครั้งนี้

ศูนย์เทคโนโลยีดิจิทัล จัดประชุมคณะกรรมการและอนุกรรมการกำกับดูแลด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2568 เวลา 09.00-12.00 น. ศูนย์เทคโนโลยีดิจิทัล ในฐานะกรรมการและเลขานุการ ได้จัดประชุมคณะกรรมการและอนุกรรมการกำกับดูแลด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ โดยท่านผู้ช่วยอธิการบดี ผศ.ดร.ณิชนันทน์ ให้เกียรติเป็นประธานในการประชุม

ศูนย์เทคโนโลยีดิจิทัล ได้ชี้แจง แนวทางปฏิบัติและกรอบมาตรฐานด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ซึ่งได้รับการพิจารณาอนุมัติจาก คณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ให้ที่ประชุมทราบ

ศูนย์เทคโนโลยีดิจิทัล  ได้จัดทำ Template ทะเบียนความเสี่ยง จัดทำตัวอย่างการประเมินและการจัดการความเสี่ยง เพื่อเป็นต้นแบบให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ศูนย์บริการการศึกษา ศูนย์บรรณสารและสื่อการศึกษา ศูนย์เครื่องมือวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สถาบันส่งเสริมการวิจัยและนวัตกรรมสู่ความเป็นเลิศ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยีสารสนเทศนำไปปฏิบัติให้สอดคล้องกับนโยบายด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ของ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และให้สอดคล้องกับที่ สํานักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) และกฎหมายกำหนด

ศูนย์เทคโนโลยีดิจิทัล ร่วมกับศูนย์บริการการศึกษา และสำนักวิชาพหุภาษาและการศึกษาทั่วไป จัดสอบออนไลน์ผ่านระบบ WU Exam

เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2568  ศูนย์เทคโนโลยีดิจิทัล ร่วมกับ ศูนย์บริการการศึกษา และสำนักวิชาพหุภาษาและการศึกษาทั่วไป จัดสอบออนไลน์ผ่านระบบ WU Exam ในรายวิชา GEN67-111 ภาษาไทยเพื่อการนำเสนอ มีนักศึกษาเข้าสอบทั้งสิ้น 1,345 คน

ข้อสอบในชุดรวมลักษณะโจทย์ข้อสอบ 3 ประเภท ได้แก่
1. คำถามที่ให้เติมคำตอบสั้น/เติมคำ -> ระบบตรวจอัตนัยอัตโนมัติ (Short Answer)
2. คำถามเชิงวิเคราะห์ที่ให้คำตอบยาวไม่เกิน 5 บรรทัด -> ระบบตรวจอัตนัยอัตโนมัติ (Essay Auto-Grade)
3. คำถามเชิงวิเคราะห์ที่ให้บรรยายคำตอบ โดยคำตอบยาวไม่จำกัด -> อาจารย์ผู้สอนตรวจเอง

การจัดสอบออนไลน์ผ่านระบบ WU Exam ในครั้งนี้ เป็นการเปิดใช้งานจริงกับการสอบปลายภาคเป็นครั้งที่ 2 โดยศูนย์เทคโนโลยีดิจิทัลได้กำหนดกระบวนการในการจัดทำข้อสอบและจัดทำเฉลยเพื่อให้ระบบสามารถตรวจข้อสอบได้โดยอัตโนมัติ และทางศูนย์บริการการศึกษากำหนดกระบวนการจัดสอบและการคุมสอบ โดยศูนย์เทคโนโลยีดิจิทัลได้จัดเจ้าหน้าที่ให้ความช่วยเหลือด้านการเชื่อมต่อกับระบบ WU Exam

ศูนย์เทคโนโลยีดิจิทัล จัดประชุมคณะกรรมการและอนุกรรมการกำกับดูแลด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2568 เวลา 09.00-12.00 น.  ศูนย์เทคโนโลยีดิจิทัล ในฐานะกรรมการและเลขานุการ ได้จัดประชุมคณะกรรมการธรรมาภิบาลข้อมูลประจำมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ โดยท่านอธิการบดีให้เกียรติเป็นประธานในการประชุม

ในที่ประชุมได้พิจารณากำหนดข้อมูลหลัก (Master data) และข้อมูลสำคัญ (Critical Data Element) ที่จำเป็นในการดำเนินงานของมหาวิทยาลัย รวมทั้งกำหนดหน่วยงานเจ้าของข้อมูล (Data Owner) ซึ่งจะได้นำไปกำหนดขั้นตอนในการปฏิบัติสำหรับ การสร้างข้อมูล (Create) การจัดเก็บข้อมูลและการจัดเก็บข้อมูลถาวร (Store and Archive) การประมวลผลและใช้ข้อมูล (Processing and Use) การเผยแพร่ข้อมูล (Disclosure) การทำลายข้อมูล (Destroy) การเชื่อมโยงและการแลกเปลี่ยนข้อมูล (Linkage and Exchange) การจัดหมวดหมู่และชั้นความลับของข้อมูล (Data Classification) การพัฒนาคุณภาพข้อมูล (Data Quality) และ การรักษาความมั่นคงปลอดภัยและความเป็นส่วนบุคคล (Data Security and Privacy) เพื่อขับเคลื่อนให้เป็นไปตามแนวปฏิบัติธรรมาภิบาลข้อมูล มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ต่อไป


เป้าหมาย เพื่อลดข้อผิดพลาดของข้อมูล ให้ทุกหน่วยงานอ้างอิงข้อมูลจากแหล่งเดียวกัน ทำให้ข้อมูลที่ใช้ในการวิเคราะห์และรายงานมีความถูกต้องและน่าเชื่อถือ ป้องกันการตัดสินใจที่ผิดพลาดจากข้อมูลที่คลาดเคลื่อน ลดเวลาที่ใช้ในการค้นหา แก้ไข และตรวจสอบข้อมูล

อธิการบดี ม.วลัยลักษณ์ มอบช่อดอกไม้ แสดงความยินดีแก่บุคลากรที่สร้างชื่อเสียงให้มหาวิทยาลัย

เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2568 ในวาระก่อนการประชุมบริหาร มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ครั้งที่ 2/2568  ณ ห้องประชุมช่อประดู่ ชั้น 4 อาคารโรงพยาบาลศูนย์การแพทย์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ มอบช่อดอกไม้แสดงความยินดีเนื่องด้วย บุคลากรศูนย์เทคโนโลยีดิจิทัลได้รับรางวัล จาก “โครงการเร่งรัดการพัฒนาบุคลากรด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์” ของสำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) โดยมีชื่อดังนี้

นายวิชชุกร ด่านเดชา ตำแหน่งเจ้าหน้าที่วิเคราะห์ระบบงานคอมพิวเตอร์ ศูนย์เทคโนโลยีดิจิทัล สอบผ่านและได้รับประกาศนียบัตรด้าน Cyber Security ระดับนานาชาติ จำนวน 3 หลักสูตร และได้รับประกาศนียบัตรจาก สกมช. จำนวน 4 หลักสูตร
นายวิศิษฎ์ เรืองพรหม ตำแหน่งวิศวกร ศูนย์เทคโนโลยีดิจิทัล ได้รับประกาศนียบัตรจาก สกมช. จำนวน 1 หลักสูตร

ขอแสดงความยินดี !!! บุคลากรศูนย์เทคโนโลยีดิจิทัล สอบผ่านและได้รับประกาศนียบัตร ระดับสากล และระดับชาติ

ศูนย์เทคโนโลยีดิจิทัล มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ได้ส่งตัวแทนบุคลากรเข้าร่วม “โครงการเร่งรัดการพัฒนาบุคลากรด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์” ของสำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.)

 บุคลากรของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ สามารถสอบผ่านและได้รับประกาศนียบัตร ระดับสากล และระดับชาติ โดยมีรายละเอียดดังนี้

นายวิชชุกร ด่านเดชา  ตำแหน่งเจ้าหน้าที่วิเคราะห์ระบบงานคอมพิวเตอร์ ศูนย์เทคโนโลยีดิจิทัล

สอบผ่านและได้รับประกาศนียบัตรด้าน Cyber Security ระดับสากล จำนวน 3 หลักสูตร ได้แก่

  • Certified Ethical Hacker จาก EC-Council
  • CompTIA CySA+ จาก ComTIA
  • CompTIA PenTest+ จาก ComTIA

และได้รับประกาศนียบัตร จาก สกมช. จำนวน 4 หลักสูตร ได้แก่

  • หลักสูตรการเจาะระบบอย่างมีจริยธรรม
  • หลักสูตรผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน การวิเคราะห์ความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์
  • หลักสูตรผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน การทดสอบเจาะระบบ
  • หลักสูตรภาคปฏิบัติการความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ (Cyber Defense Operations and Analysis)

นายวิศิษฏ์ เรืองพรหม ตำแหน่งวิศวกร ศูนย์เทคโนโลยีดิจิทัลได้รับประกาศนียบัตร จาก สกมช. จำนวน 1 หลักสูตร ได้แก่

  • หลักสูตรภาคปฏิบัติการความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ (Cyber Defense Operations and Analysis)

ศูนย์เทคโนโลยีดิจิทัล จัดอบรมเชิงปฏิบัติการ หลักสูตร How to create online examwith WU e-Learning

เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2568 เวลา 09.00 -12.00 น. ศูนย์เทคโนโลยีดิจิทัล ได้จัดอบรมเชิงปฏิบัติการ ณ ห้อง E-Testing2 หลักสูตร How to create online exam with WU e-Learning โดย นางสาวจุฬาพร พันธ์กำเหนิด เจ้าหน้าที่วิเคราะห์ระบบงานคอมพิวเตอร์ ศูนย์เทคโนโลยีดิจิทัล นางสาวภัทรานิษฐ์ โยธินวัฒนบำรุง  เจ้าหน้าที่บริหารงานทั่วไปศูนย์ความเป็นเลิศการเรียนการสอน เป็นวิทยากร และนายอภิชาติ รักชอบ นายช่างเทคนิค ศูนย์เทคโนโลยีดิจิทัล เป็นผู้ช่วยวิทยากร มีพนักงานที่สนใจลงทะเบียนเข้าร่วม จำนวน 17 คน  การอบรมเริ่มเวลา 09.00 น. วิทยากรเริ่มอบรม

  • หลักการพื้นฐานของข้อสอบในระบบ WU e-Learning  แนะนำระบบ WU e-Learning บนแพลตฟอร์ม Moodle LMS อธิบายวัตถุประสงค์และเป้าหมายของหลักสูตร วิธีการเข้าใช้งาน การสร้างรายวิชา รูปแบบข้อสอบประเภทต่าง ๆ เช่น  ข้อสอบปรนัย ข้อสอบอัตนัย ข้อสอบจับคู่ ข้อสอบเรียงลำดับ เป็นต้น สาธิตตัวอย่างข้อสอบประเภทต่าง ๆ
  • การสร้างข้อสอบประเภทต่าง ๆ ในระบบ WU e-Learning อธิบายคลังข้อสอบ (Question bank) สาธิตการสร้างกลุ่มข้อสอบ (Category) สาธิตการสร้างข้อสอบ (Question) ประเภทต่าง ๆ อธิบายวิธีการสร้างแบบทดสอบ แสดงตัวอย่างการ เตรียมไฟล์สำหรับนำเข้าและวิธีการนำเข้าข้อสอบ
  • การฝึกปฏิบัติและตอบคำถาม ฝึกปฏิบัติการใช้งานระบบ WU e-Learning ตอบคำถามและให้คำแนะนำแก่ผู้เรียน ผู้เรียนทำใบงาน สรุปและประเมินผลการอบรม

ศูนย์เทคโนโลยีดิจิทัล จัดประชุมคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2568 ได้จัดประชุมคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ โดยมี รองอธิการบดี รศ.ดร.สุวิทย์ วุฒิสุทธิเมธาวี ผู้บริหารเทคโนโลยีสารสนเทศระดับสูง (CIO) เป็นประธาน และผู้ช่วยอธิการบดี ผศ.ดร.ณิชนันทน์ กิตติพัฒนบวร เป็นรองประธาน ที่ประชุมได้พิจารณากรอบและแนวทางปฏิบัติการดำเนินงานการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ของมหาวิทยาลัย โดยกำหนดความเสี่ยงตามมาตรฐาน CIA Triad และ NIST Framework แบ่งเป็น 8 หมวดหมู่
  • ความเสี่ยงด้านการรักษาความลับของข้อมูล (Confidentiality)
  • ความเสี่ยงด้านความถูกต้องของข้อมูล (Integrity)
  • ความเสี่ยงด้านความพร้อมใช้งานของระบบ (Availability)
  • ความเสี่ยงด้านการพิสูจน์ตัวตนและสิทธิ์ (Authentication & Authorization)
  • ความเสี่ยงด้านการปฏิบัติตามกฎระเบียบ (Compliance)
  • ความเสี่ยงด้านบุคลากร (Human Factor)
  • ความเสี่ยงด้านโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure)
  • ความเสี่ยงจากบุคคลภายนอก (Third-party Risk)
และที่ประชุมได้พิจารณาแผนการดำเนินงานร่วมกันระหว่าง คณะกรรมการทั้ง 3 ชุด ได้แก่
  • คณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
  • คณะกรรมการและอนุกรรมการกำกับดูแลด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
  • คณะกรรมการตรวจสอบด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
ให้สอดคล้องกับ “นโยบายบริหารจัดการที่เกี่ยวกับการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ของมหาวิทยาลัย” และตามข้อกำหนดของ สำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) ศูนย์เทคโนโลยีดิจิทัล ได้จัดทำ Template ทะเบียนความเสี่ยง ตัวอย่างการประเมินและการจัดการความเสี่ยง เพื่อเป็นตัวอย่างให้กับหน่วยงานที่มีโครงสร้างพื้นฐานทางสารสนเทศและระบบสารสนเทศ ได้แก่ ศบศ. สวนล. ศกพ. ศคว. ศบว. ศบส. และหน่วยงานอื่นๆ ได้นำไปปฏิบัติให้สอดคล้องกับนโยบายของมหาวิทยาลัยต่อไป

ผู้บริหารมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เข้าร่วมประชุมผู้บริหารเทคโนโลยีสารสนเทศระดับสูงของสถาบันอุดมศึกษา (CIO Forum) ณ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2568
รองอธิการบดี รศ.ดร.สุวิทย์ วุฒิสุทธิเมธาวี พร้อมด้วย ผู้ช่วยอธิการบดี ผศ.ดร.ณิชนันทน์ กิตติพัฒนบวร เข้าร่วมประชุมผู้บริหารเทคโนโลยีสารสนเทศระดับสูงของสถาบันอุดมศึกษา (CIO Forum) ณ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในเรื่องการปรับตัวของสถาบันอุดมศึกษาไทยสู่ยุคดิจิทัล (Digital University Transformation) โดยมีคุณจันทนา วงศ์เยาว์ฟ้า ผู้อำนวยการกองระบบและบริหารข้อมูลเชิงยุทธศาสตร์การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สำนักงานปลัดกระทรวง อว. เป็นประธาน

การประชุมในครั้งนี้จัดร่วมอยู่ในการประชุม Workshop on UniNet Network and Computer Applications (WUNCA) ครั้งที่ 44 ซึ่งประเด็นที่สำคัญในการประชุม CIO Forum มีหลากหลายประเด็น อาทิ เช่น

  • ภาพรวมระบบการอุดมศึกษา
  • รายงานการขับเคลื่อนการปรับเปลี่ยนสู่ความเป็นดิจิทัลของสถาบันการศึกษาไทย
  • โครงการจัดตั้งศูนย์ประสานงานความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ภาคอุดุมศึกษา (THE-CSIRT)
  • ซอฟต์แวร์เพื่อการศึกษา
  • ลิงก์ย่อและอีเมลภาษาท้องถิ่นกับการเสริมสร้างความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์
  • กรอบการนำ AI มาใช้ในอุดมศึกษา
  • การปรับเปลี่ยนรูปแบบ VMware Product
    ทั้งนี้ที่ประชุมได้สรุปแนวทางที่มหาวิทยาลัยจะดำเนินการร่วมกันเพื่อขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยสู่ยุคดิจิทัลไปด้วยกัน

ศูนย์เทคโนโลยีดิจิทัลจัดอบรมเชิงปฏิบัติการ หลักสูตรการสร้าง Data Visualization with Google Looker Studio รุ่นที่ 1/2568

วันที่ 31 มกราคม 2568 เวลา 09.00 -16.00 น. ศูนย์เทคโนโลยีดิจิทัล ได้จัดอบรมเชิงปฏิบัติการ ณ ห้อง E-Testing2 หลักสูตรการสร้าง Data Visualization with Google Looker Studio รุ่นที่ 1 โดย นายชัยรัตน์ กาญจนอารี นางสาวจุฬาพร พันธ์กำเหนิด เจ้าหน้าที่วิเคราะห์ระบบงานคอมพิวเตอร์ ศูนย์เทคโนโลยีดิจิทัล เป็นวิทยากร และนายอภิชาติ รักชอบ นายช่างเทคนิค ศูนย์เทคโนโลยีดิจิทัล เป็นผู้ช่วยวิทยากร มีพนักงานที่สนใจลงทะเบียนเข้าร่วม จำนวน 42 คน  การอบรมเริ่มเวลา 09.00 น. ท่านวิทยากรแนะนำหลักการพื้นฐานของ Data Visualization การใช้สร้างแดชบอร์ด (Dashboard) ด้วย Google Looker Studio การสร้างแผนภูมิแบบต่าง ๆ (การสร้างกราฟแท่ง กราฟเส้น กราฟวงกลม การสร้างกราฟแบบแผนที่) การปรับแต่งการแสดงผลข้อมูล การทำ Blending data (การเตรียมข้อมูลที่มีหลายตาราง การสร้างความสัมพันธ์และการเชื่อมตาราง การนำข้อมูลที่เชื่อมตารางแล้วมาแสดงผลด้วยแดชบอร์ด)